2021-07-20 22:51:36
ชา เป็นเครื่องดื่มที่อยู่ในวัฒนธรรมทั่วโลกมายาวนาน ทั้ง จีน ญี่ปุ่น ยุโรป ตะวันออกกลาง
ดื่มได้ทุกเพศทุกวัยและกำลังเป็นที่นิยมขยายวงกว้างออกไปมากขึ้นเรื่อยๆ
ด้วยรสชาติทีมีเสน่ห์ กลิ่นหอมเฉพาะตัวของชาแต่ละชนิด
จึงใช้เป็นเครื่องดื่มเพื่อความผ่อนคลายในชีวิตประจำวัน ทำให้กระปรี้กระเปร่า
ใช้เป็นสื่อกลางในการสร้างสัมพันธไมตรี รับแขกผู้มาเยือน
ช่วยสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างสนทนาได้เป็นอย่างดี
นอกจากในเชิงเป็นวัฒนธรรมแล้ว ยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพ ร่างกายและจิตใจ
ด้วยสรรพคุณในเชิงสมุนไพรที่มาจากธรรมชาติของสมุนไพรที่นำมาทำชานั้นๆ
ทุกวันนี้มีรูปแบบชาที่แตกแขนงออกไปหลากหลายประเภท
หนึ่งในชาที่เป็นที่นิยมอย่างมากในขณะนี้คือ “ชาดอกไม้”
ซึ่งเหมาะกับผู้ที่ไม่ชอบรสขมฝาดของใบชา และหลีกเลี่ยงสารคาเฟอีน
เพราะนอกจากมีกลิ่นหอม สีสันสวยงาม มีรสชาติที่หลากหลายแล้ว
ยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพ ช่วยกระตุ้นอารมณ์ให้รู้สึกสดชื่น
ทำให้ร่างกายผ่อนคลายจากสภาวะเครียดได้ดีอีกด้วย
เหตุผลหลักที่ผู้คนนำดอกไม้มาทำชาเพราะ “กลิ่น” จาก “น้ำมันหอมระเหย” ที่อยู่ในดอกไม้นั้น
ชาเป็นวิธีการง่ายที่สุดที่เราจะนำน้ำมันหอมระเหยออกมา
ผ่านการให้ดอกไม้แช่คลายตัวในน้ำร้อน ความร้อนทำให้น้ำมันหอมระเหยบางส่วนระเหย
เผยกลิ่นหอมอวยกลิ่นออกมาระหว่างดื่ม
บางส่วนของน้ำมันหอมระเหยจับตัวกับน้ำ จะละลายอยู่ในน้ำชานั้น
ทำให้ “กลิ่นหอม” ของดอกไม้นั้นผสมกันอวลอยู่ในน้ำชา
สังเกตุจากเวลา ดื่มชา หากลองกลั้นหายใจไว้
พอกลืนลงไป แล้วหายใจเข้าออก เราจะได้กลิ่นหอมคลุ้งอยู่ในโพรงจมูกและลำคอ
นอกจากนี้เรายังได้ทั้ง “รส” ที่มาจากสารในดอกไม้ซึ่งมีสรรพคุณเภสัชและรสชาติที่แตกต่างออกไปอีกหลากหลาย
ในศาสตร์สุคนธบำบัด (aromatherapy) คือการใช้น้ำมันหอมระเหยในการปรับสมดุลย์ร่างกายและจิตใจ
ผ่านการรับรู้ผ่านประสาทการรับกลิ่น ซึ่งมีผลต่อฮอร์โมนสำคัญในร่างกายอย่างมีนัยสำคัญ
ชาดอกไม้จึงเป็นหนึ่งในเครื่องมือของสุคนธบำบัดที่ดีด้วยอีกทางหนึ่ง
ในศาสตร์แพทย์แผนไทย ได้แบ่ง “รสยา” ของสมุนไพรออกเป็น9รส
คือ ฝาด หวาน เมาเบื่อ ขม เผ็ดร้อน มัน หอมเย็น เค็ม เปรี้ยวซึ่งจะมีสรรพคุณที่มีผลต่อร่างกายแตกต่างกันไป
ในรสทั้ง9นี้ ดอกไม้มักจะมี “รสหอมเย็น” เป็นรสนำ และอาจมีรสตามอื่นๆตามมามากน้อยแตกต่างกันไปเช่น หวาน ปรี้ยว ฝาด ผสมผสานกันมากน้อยต่างกันไป
ซึ่งแต่ละรสยามีสรรพคุณดังนี้
รสหอมเย็น มีสรรพุคณ บำรุงดวงจิตให้ชุ่มชื่น บำรุงหัวใจ แก้อ่อนเพลีย แก้กระหายดับพิษร้อน ลดอาการใจสั่น
มักช่วยการรักษาอาการที่เกี่ยวกับหัวใจหรือฮอร์โมน
ดอกไม้ที่มีรสหอมเย็น จะเป็นดอกไม้ส่วนใหญ่ เช่น กุหลาบ มะลิ พิกุล บุนนาค สารภี เกสรบัวหลวง
จะสังเกตได้ว่ารสหอมเย็นในความหมายของรสยาไทยนี้นัยยะไปที่ผัสสะของ “กลิ่น” ร่วมด้วย**
รสหวาน มีสรรพคุณ แก้อ่อนเพลียน ชูกำลัง แก้ไอ ชุ่มคอ เจริญอาหาร
ดอกไม้ที่มีรสหวาน เช่น ดอกคำฝอย เข็ม ดอกโสน
รสเปรี้ยว มีสรรพคุณแก้เสมหะพิการ แก้เสมหะเหนียว แก้กระหายน้ำ
แก้ไอ ลดอาการท้องผูก ช่วยระบายอุจจาระ ฟอกโลหิต
ดอกไม้ที่มีรสเปรี้ยว เช่น กระเจี๊ยบ ดาหลา
รสฝาด มีสรรพคุณทางสมาน เช่น ช่วยสมานบาดแผลภายในกระเพาะ
หรือใช้สำหรับรักษาแผลสด แผลเปื่อย กัดเนื้อร้าย
ในระบบภายในช่วยแก้โรคบิด ท้องร่วง คุมธาตุ
ดอกไม้ที่มีรสฝาด เช่น ดอกเฟื่องฟ้า กุหลาบ
แรกเริ่มของชาดอกไม้ เร่ิมจากชาวจีนโบราณได้นำ “ดอกมะลิ” มาผสมคั่วกับใบชา
ทำให้ได้รสชาที่หอมนุ่มนวลเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของดอกมะลิ
และมีสรรพคุณช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายอีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีการนำดอกไม้อีกหลากหลายมาผสมทำเป็นชากลิ่นต่างๆอีกมากมาย
ตามแต่ละภูมิภาคทั่วโลก
ดอกไม้ที่นิยมกันทั่วโลกและนิยมมาทำชามากที่สุด คือ “ชาดอกกุหลาบ”
เพราะด้วยกลิ่นที่เป็นที่ชื่นชอบของคนส่วนใหญ่ทั่วโลก
ด้วยมีน้ำมันหอมระเหย ที่มีความเป็นกลางตามทฤษฎีธาตุ(ดิน น้ำ ลม ไฟ)
จึงเข้ากันได้กับผู้คนทุกประเภททุกธาตุ
ดอกกุหลาบที่นิยมนำมาทำชา คือ ดอกกุหลาบมอญ
ด้วยความที่มีกลิ่นหอมแรงกว่าดอกกุหลาบทั่วไป
ดอกไม้ที่นิยมนำมาทำชาดอกไม้อื่นๆเช่น
-เกสรบัวหลวง ซึ่งเป็นหนึ่งในสมุนไพรของไทยที่มีสรรพคุณช่วยให้ผ่อนคลาย ชุ่มชื่นจิตใจ บำรุงหัวใจ
-ชาดอกคำฝอย มีรสหวานตามธรรมชาติอ่อนๆ เป็นที่นิยมสำหรับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงเกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจ
-ชากระเจี๊ยบแดง เป็นชาที่มีรสเปรี้ยว มีสีม่วงแดงซึ่งมีสารแอนโทไซยานิน (anthocyanin) มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่ดีเยี่ม
-ดอกเก๊กฮวย ช่วยแก้ร้อนในได้ดี และดอกคาโมมายล์เป็นวงศ์เดียวกับเก๊กฮวย ซึ่งช่วยให้นอนหลับสบาย รู้สึกสงบ รำงับ คลายกังวล ซึ่งเป็นที่นิยมมากในยุโรป
นอกจากนี้ยังมีดอกอัญชัน ดอกชบา ดอกดาวเรือง ดอกลาเวนเดอร์ ดอกหอมหมื่นลี้ เป็นต้น
การเลือกซื้อชาดอกไม้มารับประทาน ควรเลือกซื้อจากแหล่งผลิตที่เชื่อถือได้ ไม่มีสารเคมีเจือปน
โปรดระวังการแต่งสี และแต่งรสที่มักมีส่วนผสมของน้ำตาลที่ปรุงเพิ่มเข้าไปด้วย
ข้อมูลอ้างอิง
หนังสือสำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
หนังสือตำราเภสัชกรรมไทย คัมภีร์ฉันทศาสตร์
หนังสือน้ำมันหอมระเหยเพื่อสุขภาพชั้นต้น
------------------------------------------------------
Rose Tea,Blue Lotus Tea,5 Angels Tea
SHOP NOW